ลบ แก้ไข

หลักสูตร2ภาษาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนฯการผลิต มจพ.เปิดรับพร้อมแจกทุนเรียนฟรี

 

หลักสูตร2ภาษาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนฯการผลิต มจพ.เปิดรับพร้อมแจกทุนเรียนฟรี

 

หลักสูตร2ภาษาวิศวกรรมวัส


ผศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ให้สัมภาษณ์ว่าภาควิชาฯ ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุเป็นเวลามากว่าทศวรรษ ภาควิชาฯ ได้มีบทบาทเชิงรุกในวงการโลหวิทยาของประเทศ เช่น ปี 2555 “เราได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการโลหวิทยาแห่งประเทศไทย” โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งจากภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมทั้งจากในและต่างประเทศ
ในปัจจุบันภาควิชาฯ ได้จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก จากการจัดการเรียนการสอนอย่างทุ่มเททำให้นักศึกษาของเราได้มีประสบการณ์การฝึกงานและการทำงานในเส้นทางวิชาชีพในบริษัทชั้นนำของประเทศ อาทิ บริษัทโตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์, มินิแบ, เม็กเทค, ปตท.สผ., ไออาร์พีซี, ไทยปาร์คเกอร์ไรซิ่ง, พอสโคไทยน็อกซ์, ไทยโตเคนเทอร์โม, สหวิริยาสตีลอินอัสทรี, บางกอกกล๊าส และมิเชอลีน

ในปี 2556 ภาควิชาฯ เปิดโครงการสองภาษา สาขาวิศวกรรมวัสดุ (วิชาชีพวิศวกรรมโลหการ) โครงการนี้นับเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่สำหรับอนาคตอันใกล้ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อันเป็นยุคที่ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของวิศวกรมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด โครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการแรก ๆ ในประเทศไทย ที่จะสร้างเส้นทางอันมั่นคงสู่การเป็นวิศวกรวัสดุเพื่อทำงานในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมโลหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มีเป้าหมายสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันให้บัณฑิตของเรามีศักยภาพทางภาษาอังกฤษเพื่อมุ่งสู่เส้นทางวิชาชีพทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมระดับโลก”

โครงการสองภาษา เป็นจุดเด่นที่เข้มแข็งในโครงการสองภาษา สาขาวิศวกรรมวัสดุ (วิชาชีพวิศวกรรมโลหการ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนืออย่างแน่นอน

สำหรับการก้าวสู่ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทางภาควิชาฯ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย เป็นกลไกหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นถ้ามองในระดับภาควิชา เราก็จะพยายามมุ่งการเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ตามภารกิจพื้นฐานของมหาวิทยาลัยมีอยู่ 4 ด้านหลัก คือ ด้านการสอน ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการและด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในส่วนของภาควิชาเราก็จะเน้นทางด้านการสอนและด้านการวิจัยเป็นหลัก เช่น ด้านการวิจัยเราก็มีวิสัยทัศน์มุ่งสร้างผลการวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คือ มุ่งสู่ระดับนานาชาติซึ่งตรงนี้คิดว่าภาควิชาทำได้และเริ่มเห็นเป็นลำดับขั้น เพราะปัจจุบัน ผลการวิจัยของอาจารย์ก็เริ่มได้รับการอ้างอิงจากนักวิชาการในต่างประเทศแล้ว ฉะนั้นก้าวย่างแรก คือ การที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดยมุ่งไปสู่การผลิตวิศวกรสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้สอดรับในการปรับตัวเองเข้าสู่การเป็นนานาชาติต่อไป
 
ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มีทุนการศึกษาและทุนสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินไปฝึกงานที่ต่างประเทศส่วนนี้ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คือว่า “ทางคณะได้มีมติในเชิงหลักการออกมาว่าจะสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เข้ามาเรียนในโครงการสองภาษา”

ทุนการศึกษามีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ ประเภทแรกคือทุนยกเว้นการศึกษาเต็มจำนวน แบบว่าเข้ามาไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเลย และถ้าสามารถรักษาระดับเกรดไว้ได้ตามที่คณะระบุไว้ก็สามารถได้รับการยกเว้นไปจนกว่าจะจบการศึกษา 4 ปี อีกส่วนคือทุนการศึกษาบางส่วน ซึ่งจะให้เป็นจำนวนทุน 20,000 บาท

ในส่วนของทุนยกเว้นการศึกษาเต็มจำนวนจะให้กับนักเรียนที่สมัครเข้ามาเรียนในโครงการสองภาษาผ่านช่องทางโควตาและสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัย

สำหรับทุนสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินไปฝึกงานต่างประเทศ “เราคิดว่าในการเรียนการสอนสองภาษานั้นเราพยายามส่งเสริมให้มีการฝึกงานในต่างประเทศ” คือจัดตั้งทุนขึ้นมาเป็นค่าตั๋วเครื่องบินสูงสุด 50,000 บาท เพื่อให้นักเรียนไปซื้อเป็นตั๋วเครื่องบินและฝึกงานในชั้นปีที่ 3

ในการเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากร เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมสู่การเป็นวิศวกรในประชาคมอาเซียน อันดับแรกเลยคือ เรื่องของวิชาการซึ่งคิดว่าวิชาการเราไม่ค่อยมีปัญหา สามารถแข่งขันได้กับที่อื่น แต่สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาคือเรื่องภาษาไม่ค่อยเก่งตรงนี้เราต้องพยายามปรับปรุง ในโครงการสองภาษาจะช่วยได้มาก แต่ทั้งนี้ในการเรียนภาษานั้นไม่ได้หมายถึงการเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาภาษาอังกฤษเท่านั้น ยังหมายถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้นักศึกษามีประสบการณ์การใช้ภาษาต่างประเทศ มีบรรยากาศที่มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น ภาควิชาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงที่ผ่านมานั้นเราได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้การบรรยายกับนักศึกษาของเราเป็นภาษาอังกฤษ และตอนนี้มีนักศึกษาต่างชาติติดต่อมาขอแลกเปลี่ยนกับเรา ขณะนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่ในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีนักศึกษาต่างชาติมาอยู่ในระยะสั้นๆ
 
ภาควิชาฯ ได้มีโครงการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัย Grenobe ประเทศฝรั่งเศส ตอนนี้มีโครงการที่จะผลิตปริญญาเอกร่วมกัน หมายความว่านักศึกษาจะเรียนในเมืองไทยส่วนหนึ่งและเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศส่วนหนึ่ง ถ้านักศึกษาจบได้จะได้รับปริญญาเอก 2 ใบ ใบหนึ่งจาก มจพ. อีกใบจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนักศึกษาที่เข้าโครงการนี้เพิ่งกลับมาเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง นอกจากนี้ก็ยังโครงการความร่วมมือกับ สถาบันวิทยาลัยอื่นอีก เช่น Kyushu Tech ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ส่งนักศึกษาของคณะวิศวฯ ไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยนี้ 7 คน และช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ทางญี่ปุ่นเขาส่งเด็กของเขามาอยู่กับเราเหมือนกัน ประมาณ 7-8 คน และช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 56 นั้นเรามีแผนที่จะส่งนักศึกษาของเราไปที่ Kyushu Tech เช่นกัน
 
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งที่คือ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นได้มีบันทึกความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรียกย่อๆว่า Postech มีชื่อเสียงมากของประเทศเกาหลี ในต้นปีที่ผ่านมาทางภาควิชาการได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการโลหวิทยาแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5 เราได้เชิญคณบดีของ Postech มาให้การบรรยายพิเศษกับเรา จากที่กล่าวมา 3 ที่ ค่อนข้างมีชื่อเสียงในระดับโลกเลย เช่น สถาบันเทคโนโลยี Grenobe ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดทางด้านวัสดุศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส ส่วน Postech ก็คือได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของเอเชีย
 
ท้ายสุด อาจารย์มีมุมมองที่อาจารย์คิดว่าการประสบความสำเร็จของวิศวกรในประเทศไทยของเรา เมื่อเทียบสัดส่วนกับเพื่อนบ้าน ทิศทางและแนวโน้มการตลาดเป็นอย่างไร เราพิจารณาได้จากองค์ประกอบที่สำคัญของการเป็นวิศวกรในอนาคต คือ ด้านวิชาการและด้านภาษา ในส่วนวิชาการไม่ค่อยเป็นห่วงนัก “ไม่มีความรู้สึกว่าด้อยกว่า ในทางตรงข้ามบางสาขาเราอาจจะเก่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ” เช่น สถาบันเทคโนโลยีนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศสได้รับบริจาคเครื่องมือทดสอบประสิทธิภาพยับยั้งการกัดกร่อนในท่อส่งน้ำมันและแก็สธรรมชาติ จากบริษัทโททาวน์ โดยร่วมกับบริษัท ปตท.สผ คือเราได้รับบริจาคเครื่องนี้มาหลังจากนั้นก็ฝึกฝนใช้จนมีความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง จนประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นศูนย์กลางการขุนเจาะน้ำมันในภูมิภาคอาเซียน ได้เชิญทีมงานคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จาก มจพ.ของเราให้ไปฝึกอบรมให้กับอาจารย์เจ้าหน้าที่และวิศวกรรมบริษัทน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย คิดว่าสาขานี้ไม่ได้เป็นรองแน่ๆ เพราะสามารถฝึกอบรมให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ “เรื่องภาษา” หากได้การส่งเสริมไปในโครงการสองภาษาและจากการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนเป็นนานาชาติมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็น “การติดอาวุธทางปัญญาให้กับบัณฑิต” ของเราไปต่อสู้กับโลกภายนอกกับนานาชาติได้
 
สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุเป็นสาขาที่ค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ แต่ในความใหม่จะเห็นว่ามันมีความต้องการวิศวกรในสาขานี้เยอะมาก ในขณะที่ความสามารถในการผลิตวิศวกรจากมหาวิทยาลัยจากสาขานี้ออกไปค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในสาขาโลหการ ซึ่งเป็นสาขาที่เราเน้นในโครงการสองภาษามีน้อยมาก คิดว่าทั้งประเทศไม่น่าเปิดเกิน 5 มหาวิทยาลัย และยิ่งเป็น 2 ภาษาด้วยนั้นน่าจะมีแค่ 1-2 ที่เท่านั้น จึงเป็นทางเลือกที่ดีเลย คือถ้าน้องๆเป็นนักเรียนอาจยังไม่เห็นภาพพจน์ไม่ค่อยชัดแต่ถ้าเรามองภาคอุตสาหกรรมเราเห็นว่าความต้องการตรงนี้สูงมาก
 
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ผศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร หรืออาจติดต่อไปที่ผู้อำนวยการโครงการสองภาษา คือ อาจารย์ ดร.ธำรงสิน ศิริพงษ์สกุล หรือเลขานุการของโครงการสองภาษานี้คือ คุณ มยุรี หยี่ลันสุวรรณ ที่สำนักงานภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทรศัพท์ 02-587-4335 ต่อ 101 ,งานประชาสัมพันธ์ มจพ. 0-2586-9010,0-2555-2091หรือwww.kmutnb.ac.th
 



TOP RELATED


NEW STORIES