เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 9 : มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)
เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 9

บทความโดย : ต้นซุง eduzones
 
สวัสดีทักทายชาว Interscholarship ทุกคนอีกครั้งหนึ่งครับ อาเซียนซีรีย์มาถึงตอนที่ 9 แล้วนะครับ โดยวันนี้ มองการศึกษาโลก ยังคงพาทุกคนมาทำความรู้จักการศึกษาและมหาวิทยาลัยในอาเซียนของเราให้มากขึ้นกับซีรีย์ "เรียนต่ออาเซียน" ซึ่งจะแนะนำมหาวิทยาลัยและหลักสูตรที่น่าสนใจของประชาคมอาเซียนของเราให้ได้รู้จักกัน และหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่ประสงค์จะเรียนต่อในภูมิภาคของเรา ภูมิภาคที่น่าค้นหาแห่งนี้ให้มากขึ้นครับ 

ในตอนที่ 8 ที่ผ่านมาเราได้ทำความรู้จัก 
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย (Universiti Sains Malaysia)
 หนึ่งในมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน ที่มีการเรียนการสอนดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์กันไปแล้ว วันนี้มีอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยของชาวมาเลเซียมาแนะนำให้รู้จักกันครับ กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่ก่อตั้งมากว่า 40 ปีแล้ว และมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ทุกด้านทีเดียว ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) นั่นเอง
 
(ทบทวนความรู้ : รู้จัก "เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน" (ASEAN University Network))  

                

มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ในภาษามาเลย์เรียกว่า Universiti Kebangsaan Malaysia และในภาษาอังกฤษ มีชื่อเรียกว่า The National University of Malaysia  เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ ตั้งอยู่ที่ เซลังกอร์ ห่างจากกัวลาสัมเปอร์ไปทางใต้ประมาณ 35 กิโลเมตร มหาวิทยาลัยก่อตั้งในปีค.ศ.1970 มีการเรียนการสอนเป็นเลิศในสาขาวิชาด้านแพทยศาสตร์ ปัจจุบันปีค.ศ.2013 มีนักศึกษาปริญญาตรีประมาณ 17,500 คน และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาประมาณ 5,000 คน และกว่า 1,300 คน เป็นนักเรียนต่างชาติจาก 35 ประเทศทั่วโลกครับ

มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียเป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติของมาเลเซีย และมีอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ QS World University Rankings ปีค.ศ.2012-2013 อยู่ในลำดับที่ 261 ของโลกครับ 

ประวัติศาสตร์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียนั้นมีมาตั้งแต่เป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ครั้งในสมัยเมื่อปีค.ศ. 1923 ซึ่งจากทั้งรัฐบาลของอังกฤษและมาเลเซียก็มีการประชุมเพื่อที่จะเปิดพื้นที่การศึกษาชั้นสูงในอาณานิคมแห่งนี้เพื่อให้ความรู้ด้านภาษามาเลย์ จนการผลักดันมีผลสำเร็จและมีการเปิดการเรียนการสอนขึ้นเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1970 ในเดือนพฤษภาคม มีคณะวิชาแรกเริ่มก่อตั้ง จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะอิสลามศึกษาครับ

ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากกระทรวงศึกษาธิการของประเทศ มีการเปิดวิทยาเขตจำนวน 2 วิทยาเขต ซึ่งมีการเรียนการสอนด้านการแพทย์ในกัวลาลัมเปอร์ และในเชอราส โดยในกัวลาลัมเปอร์เปิดสอนในคณะทางด้าน เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ทันตแพทยศาสตร์ และแพทยศาสตร์ ส่วนที่เชอราสจะเปิดเป็นศูนย์วิจัยด้านแพทยศาสตร์ มีการเรียนการสอนด้านแพทยศาสตร์ในโรงพยาบาลนับเป็นที่ฝึกของนักเรียนแพทย์แห่งหนึ่งขงมาเลเซียครับ 

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียมีคณะวิชาและศูนย์วิจัยจำนวนมาก สาขาวิชาที่เปิดสอนนักศึกษาในระดับปริญญา มีดังต่อไปนี้


1. สาขาวิชาแพทยศาสตร์ (Medicine)
2. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Sciences)
3. สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ (Dentistry)
4. สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ (Economics and Business)
5. สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ (Education)
6. สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง (Engineering and Built Environment)
7. บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ (Graduate School of Business) สอนในระดับสูงกว่าปริญญาตรี
8. สาขาวิชาเทคโนโลยีและสารสนเทศ (Information Science and Technology)
9. สาขาวิชาด้านนิติศาสตร์ (Law)
10. สาขาวิชาด้านเภสัชศาสตร์ (Pharmacy)

หลักสูตรระดับปริญญาตรีและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (Admissions)

การรับสมัครเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย สำหรับนักเรียนต่างชาติ เปิดรับสมัครในเดือนมกราคม ของทุกปี โดยต้องสมัครผ่านทางออนไลน์

หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนต่างชาติในระดับปริญญาตรี ได้แก่ ปริญญาตรีด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์และการจัดการ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

คุณสมบัติพื้นฐานของผู้สมัครปริญญาตรีชาวต่างชาติ ต้องจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเกรด 12 บางสาขาวิชากำหนดให้มีผลการสอบ A-Level เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้สมัครต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ TOEFL 550 คะแนนหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือ คะแนน IELTS รวม 6.0 ขึ้นไป


รายละเอียดหลักสูตรปริญญาตรี สำหรับนักเรียนต่างชาติ 
ใบสมัครเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี
เอกสารที่ต้องส่งประกอบการสมัครหลักสูตรปริญญาตรี
สมัครเรียนที่นี่

ระดับบัณฑิตศึกษา


ปัจจุบันหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียเปิดการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมาก สามารถดูสาขาวิชาที่เปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษาได้ที่นี่ : สาขาวิชาระดับบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย 

- สมัครเรียนที่นี่


ค่าเล่าเรียน
 
ค่าครองชีพในการเรียนที่ประเทศมาเลเซียถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศในฝั่งตะวันตกครับ ปีหนึ่งจะใช้จ่ายรวมทุกอย่างอยู่ที่ประมาณ 200,000-300,000 บาท ก็สามารถอยู่ได้สบายครับ 
 
ค่าเล่าเรียนระดับปริญญาตรี (หลักสูตรนานาชาติ)
-สาขาด้านมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ ตลอดหลักสูตร 3 ปีครึ่ง-4 ปี ประมาณ 350,000-400,000 บาท
-สาขาด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดหลักสูตร ประมาณ 500,000-700,000 บาท
 
ค่าเล่าเรียนระดับบัณฑิตศึกษา
- ปีละประมาณ 100,000 บาทขึ้นไป 
 
ค่าที่พักอาศัย
 
-ค่าหอพักของมหาวิทยาลัย อยู่ที่ 3,000-9,000 บาท ต่อเดือน 
 
ค่าเดินทาง
 
-เฉลี่ยอยู่ที่ 600 บาทต่อเทอม

- รายละเอียดค่าเล่าเรียนนักเรียนต่างชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย
 
ทุนการศึกษา 
 
รัฐบาลมาเลียเซียมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาสำหรับนักเรียนต่างชาติ ด้วยความที่ต้องการให้ประเทศเป็นฮับทางการศึกษาในอาเซียนครับ ทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่นักเรียนไทยสามารถสมัครได้มี 3 ทุนใหญ่ๆ ได้แก่
 
1. Malaysia International scholarship (MIS)
-รัฐบาลมาเลเซียพยายามที่จะดึงดูดนักเรียนที่มีความชาญฉลาดและดีที่สุดจากทั่วโลก ให้มาเรียนต่อในประเทศมาเลเซีย และทุนการศึกษา Malaysia International scholarship (MIS)  นี้ ก็ค้นหานักเรียนที่มีความสามารถที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมและมีประสบการณ์อัน น่าประทับใจ  นักเรียนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้จะได้รับการต้อนรับอย่างดีในการสมัครและ สามารถเลือกเรียนสาขาใดก็ได้ที่ต้องการ ทั้งในสถาบันเอกชนและรัฐบาล สามารถเข้าไปเว็บไซต์ mohe.gov เพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติม ปิดรับสมัครวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี
 
2. Nippon Foundation Fellowships for Asian Public Intellectuals
-ทุน Nippon Foundation Fellowships for Asian Public Intellectuals  นี้ ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อกระตุ้นการรวมตัวของความรู้ในเอเชีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิ ฟิค และเพื่อสร้างการเติบโตของความเป็นเอเชีย ทุน API ปิดรับสมัคร 31 สิงหาคม ของทุกปี

3. Research University Fellowship Scheme
- ทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ให้กับนักศึกษาเต็มเวลาระดับปริญญาเอกที่มีผลงานวิชาการโดดเด่น
รายละเอียดทุนที่นี่

มาเลเซียไม่เพียงแค่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมทางการศึกษาที่ยอดเยี่ยมในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น  แต่ยังกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับนักเรียนจากทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ชาว Interscholarship หวังว่า มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย จะเป็นอีกหนึ่งสถานศึกษาที่น่าสนใจในการเรียนต่อไม่น้อยสำหรับนักเรียนไทยนะครับ ตอนหน้าเราจะไปต่อกันที่มหาวิทยาลัยไหนในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน รอติดตามได้เลย
 
บทความโดย : ต้นซุง eduzones
 
ขอบคุณข้อมูล : มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)

อ่านบทความ เรียนต่ออาเซียน ย้อนหลัง
 
เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 1 : มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ (Royal University of Phnom Penh)
เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 2 : มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (National University of Laos)
เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 3 : การศึกษาในประเทศบรูไน
เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 4 : มหาวิทยาลัยแห่งบรูไนดารุสซาลาม (Universiti Brunei Darussalam)
เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 5 : ซินจ่าว ! การศึกษาเวียดนาม และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม (Vietnam National University)
- เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 6 : มหาวิทยาลัยปุตรา มาเลเซีย (Universiti Putra Malaysia) 
เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 7 : มหาวิทยาลัยมาลายา (University of Malaya)
- เรียนต่ออาเซียน ตอนที่ 8 : มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย (Universiti Sains Malaysia)
                                     กังนัมสไตล์ เวอร์ชั่น มห

พูดคุยกับต้นซุง Eduzones และอัพเดททุกข่าวการศึกษาอินเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ และสอบถามเพิ่มเติมเรื่องทุน ได้ที่นี่ :
โดย Tony Teerati
วันที่ 29 พฤษภาคม 2556
พิมพ์หน้านี้