จีนร่วมมือสหภาพยุโรป ปรับนโยบายปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่
สวัสดีชาว Interscholarship กันอีกครั้งครับ ประเด็นฮอตของแวดวงการศึกษานานาชาติ ที่ มองการศึกษาโลก นำมาเสนอในช่วงนี้นั้นยังคงเข้มข้นอีกเช่นเดิมครับ โดยล่าสุดข่าวฮอตในวงการการศึกษาต่างประเทศได้แก่การปรับนโยบายการศึกษานานาชาติของประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศจีนที่ล่าสุดมีความร่วมมือกับสหภาพยุโรปเพื่อต้องการเป็นฮับการศึกษาของเอเชียครับ
สื่อจีนรายงานข่าวล่าสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้วางกรอบแนวทางนโยบายที่สำคัญโดยจะสร้างความสัมพันธ์ด้านการศึกษาระดับนานาชาติกับมหาวิทยาลัยในยุโรปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารงานและการกำกับดูแลในทำงานระหว่างประเทศร่วมกันให้มากขึ้น โดยล่าสุด Jianmin Li ที่ปรึกษารัฐมนตรีและหัวหน้าสำนักงานด้านวัฒนธรรมและการศึกษาของประเทศจีนมีการเจรจาทางความร่วมมือ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างหน่วยงานที่สำคัญ 3 องค์กร คือ European University Association, Academic Cooperation Association และ China Scholarship Council ในความร่วมมือในเรื่องสำคัญ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อหารือความร่วมมือในระดับสถาบัน การสร้างแพลตฟอร์มด้านการวิจัยร่วมกันเพื่อความเป็นสากล รวมถึงมีการหารือกับคู่ค้าจากนอกประเทศจีนและนอกสหภาพยุโรป ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน จากตัวแทนมหาวิทยาลัยถึง 80 แห่ง
Michael Gaebel หัวหน้าของหน่วยด้านนโยบายการศึกษาระดับอุดมศึกษายุโรป (European University Association) ได้แสดงความคิดเห็นว่า "การหารือดังกล่าว ไม่ได้แต่เป็นเพียงการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างนักศึกษาต่างชาติจากสองทวีป แต่ยังเป็นการร่วมงานซึ่งเปรียบเสมือนสถาปัตยกรรมระดับโลกที่ต้องสร้างสิ่งใหม่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จีนเข้ามาสร้างความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นประโยชน์ต่อสหภาพยุโรปในการร่วมมือด้านการศึกษาและระเบียบต่างๆด้านการเงินที่จีนสนับสนุน"
Yang Xinyu รองเลขาธิการผู้ให้ทุนรัฐบาลจีน (China Scholarship Council) ยังได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า "เรามีความสนใจในรูปแบบมหาวิทยาลัยในยุโรป การหารือในครั้งนี้นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความร่วมมือร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญเมื่อเทียบกับความร่วมมือของเรากับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาแล้วนั้น ความร่วมมือกันของอุดมศึกษาในอเมริกายังคงอยู่ในระดับของอาจารย์แต่ละคนอยู่"
นอกจากนี้ยังมีทัศนคติจากผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนที่ยังมองว่าการเจรจาด้านนโยบายอุดมศึกษาของจีนและสหภาพยุโรปในครั้งนี้ จีนจะเป็นเพียงแหล่งที่มาของเงินจากค่าเล่าเรียนของนักเรียนที่มาเรียนในยุโรปเท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจีนจะเป็นคู่แข่งมากกว่าหุ้นส่วนทางการวิจัย
Gaebel ยังกล่าวเสริมถึงความตระหนักในเรื่องดังกล่าว "ยังคงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากที่จีนจะเป็นเพียงผู้ให้บริการกับนักเรียนที่มาเรียน เพราะตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศจีนมีความสำคัญในตลาดการวิจัยโลก และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง" ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งยุโรปและจีนมีสถาบันการศึกษาที่เติบโตและมีความเป็นสากลมากขึ้นการร่วมมือกันจะทำให้วงการการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมองเห็นประโยชน์ระหว่างมหาวิทยาลัยจีน โดยยุโรปสามารถสร้างความร่วมมือและการศึกษาวิจัยได้มากขึ้นในมหาวิทยาลัยจีน อีกทั้งการศึกษาสไตล์ยุโรปจะสร้างความน่าสนใจให้กับมหาวิทยาลัยจีน
Bernd Wächter ผู้อำนวยการของ สมาคมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ (Academic Cooperation Association) ได้เสนอแนะว่า "ส่วนตัวแล้วมีความประทับใจกับการปฏิรูปการศึกษาของโบโลญา (Bologna reforms) เช่นเรื่องกรอบคุณวุฒิ (Qualifications Framework of the European Higher Education Area อันได้แก่ระบบปริญญาระดับต่างๆ เช่น 1st cycle ปริญญาตรี, 2nd cycle ปริญญาโท, 3rd cycle ปริญญาเอก) และระยะเวลาของการศึกษา และเรามีความต้องการที่จะส่งออกการปฏิรูปนี้ให้กับจีน"
Bologna reforms จะถูกส่งให้กับประเทศจีนในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ โดยสหภาพยุโรปประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการปฏิรูปการศึกษาด้วยระบบดังกล่าว ซึ่งทำให้ยุโรปแข็งแกร่งขึ้นและช่วยให้แข็งขันได้กับแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งความสนใจของจีนที่มีต่อโบโลญาจะถูกเชื่อมโยงไปยังนโยบายการศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของจีนให้สูงขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำของมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของจีน (ศึกษาระบบการปฏิรูปการศึกษาโบโลญาเพิ่มเติมที่นี่)
ในอดีตที่ผ่านมาจีนมีการขับเคลื่อนนโยบายที่จะสร้างมหาวิทยาลัยระดับโลก แต่ความสนใจในความร่วมมือระหว่างกันของจีนและยุโรปถูกพัฒนาไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
Roger Woods รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมของอังกฤษ กล่าวว่า "สิ่งหนึ่งที่จีนจะได้รับจากความร่วมมือระหว่างยุโรปคือแบบจำลองทางการศึกษา จีนสนใจโมเดลการศึกษาแบบอังกฤษ โมเดลการศึกษาแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงการศึกษาในแบบยุโรป โดยผู้สำเร็จการศึกษาในปัจจุบันต้องปรับตัวให้เข้าได้กับระบบเศรฐกิจข้ามชาติ"
แม้ว่าจะมีความคืบหน้าของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่ตอนนี้จีนยังคงเรียนรู้ระบบธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยในยุโรปอยู่ "ระบบการศึกษาที่ดีย่อมเกิดจากความคิดดีดี"
แต่บางคนในที่ประชุมได้เสนอแนะว่า "ประเทศจีนควรพัฒนาการศึกษาที่มีอยู่มากกว่าแทนที่จะไปเปลี่ยนมัน เพราะปัจจุบันโมเดลมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกคือมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา และยังคงมีการปรับปรุงด้านบริหารจัดการอยู่ตลอดเวลา" แต่ Gaebel ก็กล่าวเสริมว่า "ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนไปใช้แบบยุโรป แต่ไม่ใช่อยู่ๆจะทิ้งนโยบายก่อนหน้า"
ประเทศจีนยังคงมีแผนการพัฒนาระดับชาติ และความทะเยอทะยานที่จะกลายเป็นฮับของอุดมศึกษานานาชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของจีน Du Yubo กล่าวในที่ประชุมว่า "ประเทศจีนกำลังหาทางดึงดูดนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศจีน ภายในปีค.ศ.2020 ประเทศจีนต้องมีนักเรียนต่างชาติ 500,000 คน และจีนจะกลายเป็นประเทศเป้าหมายในเอเชียที่ใหญ่ที่สุดที่นักเรียนต่างชาติสนใจศึกษาต่อ (largest Asian destination for international students)"
ปัจจุบันมีนักเรียนจากสหภาพยุโรปมาเรียนต่อในประเทศจีน 35,000 คน และในอีก 5 ปีข้างหน้า รัฐบาลจีนจะสนับสนุนทุนการศึกษาของรัฐบาลจีนกว่า 30,000 ทุน ให้นักเรียนและนักวิจัยจากยุโรปเพื่อการศึกษาในประเทศจีน
แปล/เรียบเรียง : ต้นซุง eduzones
อ่านบทความเพิ่มเติม : Beijing wants more in-depth HE links with Europe, Yojana Sharma
Photo Credit : intlbusinessdevelopment.com
พูดคุยกับต้นซุง Eduzones และอัพเดททุกข่าวการศึกษาอินเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ และสอบถามเพิ่มเติมเรื่องทุน ได้ที่นี่ :
โดย Tony Teerati
วันที่ 20 พฤษภาคม 2556