นอร์เวย์ร่วมมหิดลให้ทุนโท-เอกเมียนมาร์
นอร์เวย์ร่วมมหิดลให้ทุนโ
H.E. Ms. Katja Christina Nordgaard เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ประจำประเทศไทย และ ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ  รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามความร่วมมือมอบทุนการศึกษา “ทุน Capacity Buliding for Institutes in Myanmar”
            งานจัดขึ้น ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรจากประเทศเมียนมาร์ ได้ศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ในระดับปริญญาเอก ๓๐ ทุน และปริญญาโท ๓๐ ทุน จำนวน ๔ สาขา คือ Life Science & Health , Environmental Science, Social & Population Science  และ Human Rights & Peace Studies ในลักษณะ Co-funding 
                ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ  รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านของเราภายในภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลก อีกทั้งรัฐบาลนอร์เวย์ได้เล็งเห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีคุณภาพการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับสากล มีการผลิตผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและมนุษยชาติ ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอย่างมากมาย ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยที่จะเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลนอร์เวย์ โดยสถานทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย ให้ทุนสนับสนุนสูงถึง ๕๐ ล้านบาท  และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยส่วนงานที่สนับสนุนทุน จะสนับสนุนทุนบางส่วน อาทิ การลดค่าหน่วยกิต การลดค่าทำวิจัย  เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรให้แก่ประเทศเมียนมาร์
                ทั้งนี้ รัฐบาลนอร์เวย์ ได้กำหนดให้ผู้รับทุนระดับปริญญาโทต้องสำเร็จการศึกษาภายในเวลาที่กำหนด ๒ ปี สำหรับผู้รับทุนระดับปริญญาเอก สามารถขยายเวลาการรับทุนเพิ่มได้อีก ๑ ปี คือจาก ๓ ปี เป็น ๔ ปี โดยจำกัดเพียง ๑๕ ทุน จาก ๓๐ ทุน และกำหนดให้ผู้รับทุนระดับปริญญาเอกต้องเดินทางกลับไปทำวิจัย ณ ประเทศเมียนมาร์ อย่างน้อย ๖ คน โดยจะได้รับค่าครองชีพจำนวนหนึ่งในช่วงที่เดินทางกลับไปทำวิจัย ณ ประเทศเมียนมาร์ เป็นเวลา ๖ เดือน
                สถานทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครรับทุน โดยคุณสมบัติของผู้สมัครรับทุนดังนี้
๑.ผู้รับทุนต้องเป็นพลเมืองและมีเชื้อชาติเมียนมาร์
๒.เป็นบุคลากรที่สังกัดสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือสถาบันแห่งชาติในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรที่สังกัดสถาบันร่วมกับสถาบันนั้น อาทิ โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ / ศูนย์วิจัย เป็นต้น
๓.เป็นบุคลากรสังกัดสถาบันเอกชน / NGO โดยผู้สมัครรับทุนฯ ต้องมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศเมียนมาร์
๔.ผู้สมัครเพศหญิง  หรือ ผู้ด้อยโอกาส หรือ ผู้สมัครที่อยู่ในเขตชนบท จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
๕.ผู้รับทุนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว “ต้องเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศเมียนมาร์”
                เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ - ธันวาคม ๒๕๕๗ ทาง www.mahidol.ac.th
โดย สมเกียรติ เทียนทอง
วันที่ 6 สิงหาคม 2556
พิมพ์หน้านี้