มธ. เปิดหลักสูตรอินเดียศึกษา(หลักสูตรนานาชาติ)
มธ. เปิดหลักสูตรอินเดียศ
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติแบบสหวิทยาการ ผสมผสานสาขาวิชาต่างๆ เริ่มจากหลักสูตรไทยศึกษา ปัจจุบัน ได้พัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาอินเดียศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) พร้อมเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2556 เพื่อผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับประเทศอินเดียในด้านภาษา ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองและความมั่นคง เพื่อรองรับกับการก้าวเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับสากล
            รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพันธุ์  เวสสะโกศล  คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์  กล่าวถึงหลักสูตรอินเดียศึกษาว่า “ในด้านการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยฯจะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานสำหรับหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ดังนั้นจึงได้พัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาอินเดียศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) ขึ้นเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้รอบด้าน อินเดียศึกษา ซึ่งครอบคลุมองค์ความรู้ด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศอินเดีย และเพื่อให้บัณฑิตมีความสามารถในการใช้ภาษาฮินดีทุกทักษะในระดับสูงและมีประสิทธิภาพ โดยนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรดังกล่าวจะได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับประเทศอินเดีย อาทิ อารยธรรมอินเดีย ปรัชญาอินเดีย ระบบเศรษฐกิจอินเดียในปัจจุบัน และการเมืองการปกครองของอินเดีย   โดยหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรการศึกษา 4 ปี ใช้ระบบการศึกษาแบบทวิภาค”
           ความโดดเด่นที่สำคัญหนึ่งของหลักสูตรอินเดียศึกษา คือ การสนับสนุนให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาฮินดี ซึ่งนับได้ว่าเป็นภาษาทางการของประเทศอินเดีย จึงได้ประสานกับสภาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอินเดีย (Indian Council for Culture Relationsหรือ ICCR) ภายใต้การสนับสนุนของสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือในการสนับสนุนผู้สอนที่มีความถนัดในเรื่องภาษาฮินดี จากประเทศอินเดีย สำหรับนักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษา ความพยายามดังกล่าวได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย นายมันโมฮัน สิงห์ ผ่านการลงนาม “บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอินเดีย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”ในเรื่องความร่วมมือในการจัดส่งครูสอนภาษาฮินดี สำหรับหลักสูตรอินเดียศึกษาโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ลงนามร่วมกับ H.E. Mr. Anil Wadhwaเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
            การลงนามบันทึกความเข้าใจ โดยมีผู้นำของสองประเทศเป็นสักขีพยานนี้ นับเป็นโอกาสพิเศษอย่างมากสำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีผ่านหลักสูตรอินเดียศึกษาแห่งแรกของประเทศ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการร่วมกันอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งประโยชน์จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับนักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษา ที่จะสามารถพัฒนาความชำนาญในเรื่องภาษาฮินดีได้โดยตรงจากครูสอนภาษาฮินดีที่ได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลอินเดีย เพราะความชำนาญในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฮินดี จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งทางวิทยาลัยฯ ได้เชิญคณาจารย์จากประเทศอินเดียมาดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาก่อนการไปศึกษาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินเดีย ซึ่งทางหลักสูตรได้กำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา ขณะศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 2
รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมความร่วมมือผ่านบันทึกความเข้าใจดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะส่งผลให้นักศึกษาของหลักสูตรอินเดียศึกษาได้เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจอันดีระหว่างสองประเทศต่อไป รวมทั้งการพัฒนาความสัมพันธ์นี้ยังเป็นบทสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ในการเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่สอดรับกับบริบทในระดับสากลได้เป็นอย่างดี
 
โดย สมเกียรติ เทียนทอง
วันที่ 21 มิถุนายน 2556
พิมพ์หน้านี้