อียูเสนอกฎใหม่หวังดึงดูดนักเรียน,นักวิจัยนอกยุโรป
อียูเสนอกฎใหม่หวังดึงดูด 
คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป The European Commissionได้เสนอหนทางใหม่เพื่อให้ง่ายขึ้นในการดึงดูดนักศึกษาและนักวิจัยจากนานาชาติให้เข้ามาศึกษาและทำงานในประเทศสหภาพยุโรป โดยกฎหมายใหม่คาดว่าจะมีผลใช้ในปีค.ศ.2016 ที่จะทำให้สหภาพยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางของความยอดเยี่ยมทางการศึกษาระดับโลก
          วัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายใหม่นี้ก็เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและโปร่งใสมากยิ่งขึ้นในบรรดาประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยแต่ละชาติจะใช้เวลาในการดำเนินการในเรื่องการออกวีซ่าในการรับนักศึกษา นักวิจัยจากนอกสหภาพยุโรปที่กระชับมากขึ้น คือ ไม่เกิน 60 วัน และนักเรียนนานาชาติก็จะได้รับการอนุมัติให้สามารถทำงานได้ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และการประสานงานระหว่างรัฐในยุโรปก็จะคล่องตัวขึ้น เช่น ในการอำนวยความสะดวกให้กับนักวิจัยที่ทำวิจัยในโปรแกรมร่วม เป็นต้น
          คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เผยว่า ปัจจุบันนักศึกษาและนักวิจัยจากนอกสหภาพ มักพบกับปัญหา ความไม่สะดวก หรือล่าช้าของระบบราชการของชาติสมาชิกยุโรป ทั้งที่ในภูมิภาคยุโรปกำลังต้องการนักศึกษาที่เก่ง ๆ และนักวิจัยชั้นยอด ในการมีส่วนร่วมสร้างสหภาพยุโรปให้เจริญ และมีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก
          สำหรับกฎหมายใหม่เพื่อความคล่องตัวครั้งนี้ ถูกเสนอโดย EU Commissioner for Home Affairs Cecilia Malmström และ Education Commissioner Androulla Vassiliou.
         ในสภาพความเป็นจริงแม้ว่าปัจจุบันยุโรปจะประสพปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงาน แต่หลายประเทศสมาชิก ก็ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนคนทำงานในตำแหน่งที่ต้องมีทักษะและความรู้ระดับสูง โดยสถานการณ์เช่นนี้มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและประชากร โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในอนาคตระยะยาว นักเรียนแลกเปลี่ยน และนักวิชาการจากนานาชาติ จะมีส่วนในการผลักดันให้เศรษฐกิจของยุโรปโต และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมต่าง ๆ  รวมถึงทำให้เกิดตำแหน่งงานมากขึ้นด้วย
           จากสถิติ ในปี 2011 พบว่า มีคนนอกสัณชาติยุโรป เดินทางเข้ามาใน 24 ประเทศสมาชิกของยุโรป รวม 220,000 คน ด้วยจุดประสงค์ คือ ศึกษา,ร่วมโครงการแลกเปลี่ยน,ฝึกอบรม หรือ ส่วนอาสาสมัครบริการ รวมทั้งมีนักวิจัยที่มาอีก 7,000 คน  
          ฝรั่งเศส เป็นชาติที่มีนักเรียนต่างชาติมากที่สุด เกือบ 65,000 คน ตามด้วย สเปน 35,000,อิตาลี 30,300,เยอรมนี 27,600 และ เนเธอร์แลนด์ 10,700 โดยที่ฝรั่งเศสยังเป็นแชมป์ในการนำเข้านักวิจัยต่างชาติด้วยเช่นกัน โดยปีดังกล่าวมีนักวิจัยนานาชาติมากว่า 2,000 คน ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ 1,600 และ สวีเดน ประมาณ 800
 
แหล่งข่าว : Karen MacGregor,UniversityWorldNews,30 March 2013
โดย สมเกียรติ เทียนทอง
วันที่ 10 เมษายน 2556
พิมพ์หน้านี้