อัชฌา เสียงหลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนเลิศหล้า กล่าว
หลักสูตรอิงลิชโปรแกรมเริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537 สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาภาคเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับโรงเรียนเอกชน 10 แห่ง เป็นโรงเรียนต้นแบบในการทดลองใช้เรียนหลักสูตรนี้ ซึ่งโรงเรียนสอนหลักสูตรอิงลิชโปรแกรม หรือเรียกว่า โรงเรียนสองภาษาคือ โรงเรียนใช้หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นแกนกลาง และใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอน
พูดง่ายๆ ใช้หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ แต่สอนด้วยภาษาอังกฤษ ยกเว้นวิชาสังคมศึกษา ภาษาไทย และวิชาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ขณะนี้มีโรงเรียนที่เปิดสอนลักษณะดังกล่าว 147 แห่ง ทั้งประเทศ โดยแต่ละแห่งกำหนดรูปแบบแตกต่างกัน มีเพียง 2-3 แห่ง ที่มีการสอนแบบโรงเรียนหลักสูตรอิงลิชโปรแกรมอย่างแท้จริง
ผอ.โรงเรียนเลิศหล้า เล่าว่า ถึงจะเรียนด้วยภาษาอังกฤษเกือบทุกวิชา แต่ไม่เคยละทิ้งการสอนวัฒนธรรม ภาษาไทย นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง เพราะภาษาไม่ใช่มีความหมายแค่สื่อสาร แต่การเรียนภาษาหมายรวมถึงการสื่อสารในวิถีชีวิต วิธีคิด วัฒนธรรมความเป็นไทย โดยหลอมรวมหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเข้ากับหลักสูตรศึกษาธิการแห่งมานิโทบา ประเทศแคนาดา จึงเชื่อถือได้ว่านักเรียนจะมีทักษะภาษาอังกฤษดี ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะ ขีดความสามารถทางด้านวิชาการอื่นๆ
ผู้บริหารโรงเรียนที่เปิดหลักสูตร 2 ภาษาหลายแห่งก็เชื่อในงานวิจัยที่ว่า เด็กที่เรียนสองภาษาสามารถพัฒนาไอคิวได้ดี เจตคติ ไวพริบ การกล้าแสดงออก และมีความมั่นใจในการสื่อสารภาษาอังกฤษ นักเรียนมีความมั่นใจในตัวเองสูงขึ้น เป็นการพัฒนาให้เกิดจุดแข็งในตัวเอง ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาการฝึกฝนให้มีสมรรถนะมากขึ้นนั่นเอง
อย่างเช่น ดร.ชัยณรงค์ สุวรรณสาร ผู้อำนวยการโรงเรียน ศรีวิกรม์ ที่เปิดหลักสูตร 2 ภาษา ทุ่มงบสร้างอาคาร 45 ปีศรีกรม์ขึ้น เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยมีเทคโนโลยีต่างๆ รองรับอย่างครบถ้วน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ประกอบด้วยห้องเรียน Child Centred Program ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งแล็บเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ ห้องปฏิบัติการทางภาษา (ซาวนด์แล็บ) ห้องศิลปะ ห้องกิจกรรม ห้องมินิเธียเตอร์ ห้องส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านกีฬาเทควันโด และการร้องเพลง ฯลฯ
"หลักสำคัญที่ทำให้โรงเรียนอยู่ได้ในภาวะการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนสายสามัญนั้น คือเรื่องของการปรับตัว ที่ต้องก้าวตามโลกยุคใหม่ให้ทัน และก้าวให้ล้ำหน้า สร้างเสริมศักยภาพให้แก่เด็ก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เน้นเด็กเป็นสำคัญ หรือ Child Centred Program (CC) มุ่งเน้นการเรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจของนักเรียนรายบุคคล"
นอกจากนี้ โรงเรียนต้องพัฒนาการสอนอย่างไม่หยุดนิ่ง และต้องหาวิวัฒนาการ เทคโนโลยีใหม่มาช่วยเพิ่มเติมความรู้ให้แก่นักเรียน เพราะในอนาคตไม่เกิน 10 ปี โรงเรียนเอกชนที่มีอยู่ประมาณ 3,000 กว่าโรงเรียน จะเหลือประมาณ 2,000 โรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนที่อยู่ได้ต้องมีคุณภาพ มีความเชื่อมั่นจากผู้ปกครอง
โรงเรียน 2 ภาษาจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ปกครองที่ต้องการเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาให้แก่ลูกๆ โดยไม่ต้องไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ หรือต่างประเทศ นั่นเอง
เรียบเรียงโดย editor bee
ข้อมูลอ้างอิง คมชัดลึก